กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) ๑

กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) ๑

ประเพณีการเห่เรือของไทยมี ๒ ประเภท คือ

๑. เห่เรือหลวง เป็นการเห่ในพระราชพิธี ในสมัยโบราณสันนิษฐานว่าใช้ภาษาสันสกฤตของอินเดีย ซึ่งเป็นมนต์ในตำราไสยศาสตร์ ต่อมาได้นำบทพระราชนิพน์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์มาใช้เห่เรือหลวง

๒. เห่เรือเล่น เห่ในเวลาแล่นเรือเที่ยวแตร่ เพื่อความรื่นเริงและให้ฝีพายพายพร้อมๆ กัน การเห่เรือเล่นใช้ภาษาไทย การพายใช้สองจังหวะคือ จังหวะจ้ำกับจังหวะปกติ

การเห่เรือหลวงมี ๔ อย่างคือ เห่โคลงนำกาพย์ หรือเกริ่นโครง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินลงประทับในเรือพระที่นั่ง ขณะเรือพระที่นั่งแล่นระหว่างทางใช้ทำนอง ช้าละวะเห่ ซึ่งเป็นทำนองเห่ช้าพลพายนกบินจังหวะช้า พอจวนถึงที่ประทับใช้ทำนอง สวะเห่ ระหว่างทางในการเดินทางกลับเป็นทำนอง มูลเห่ เมื่อจบบทพายจ้ำสามทีส่งทุกบท

กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์มี ๒ ตอน

ตอนที่ ๑ ชมพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ต่อจากชมกระบวนเรือ ว่าด้วยชมปลา ชมไม้ ชมนก เป็นลักษณะนิราศ กาพย์เห่เรือเรื่องนี้เห็นได้ในสำนวนว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์สำหรับเห่เรือของท่านเอง เวลาตามเสด็จขึ้นพระพุทธบาท ออกจากจังหวัดพระนครศรีอยุทธยาแต่เช้า พอตกเย็นก็ถึงท่าเจ้าสนุก ตอนที่ ๑ กล่าวชมเรือกระบวน ชมปลา ชมไม้ ชมนก และแทรกบทครำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก

ตอนที่ ๒ คำสังวาส เอาเรื่องพระยาครุฑลักนางกากีมาทำบทขึ้นต้นว่า “กางกรโอบอุ้มแก้ว เจ้างามแพร้วสบสรรพพางค์” แล้วว่าต่อไปเป็นกระบวนสังวาสจนจบ บทที่ ๒ เป็นบทเห่เรียกว่า เห่กากี เป็นบทคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว

ในที่นี้จะยกตัวอย่างให้ศึกษาบางตอนคือ บทเห่ชมเรือกระบวน บทเห่ชมปลา บทเห่ชมไม้ บทเห่ชมนก และจบลงด้วยบทเห่ครวญ

ลักษณะการแต่งประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท ใช้เป็นบทนำกระบวนความแต่ละตอน และต่อด้วยกาพย์ยานี ๑๑ พรรณนาความของเนื้อหาในเนื้อเรื่อง จนจบตอนหนึ่งๆ โดยไม่จำกัดจำนวนบท

เห่ชมเรือกระบวน

โคลง

ปางเสด็จประเวศด้าว ชลาลัย
ทรงรัตนพิมานชัย กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว เพริศพริ้งพายทอง

กาพย์

พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน

นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน สาครลั่นครั่นครื้นฟอง

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ้วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา

สรมุขมุขสี่ด้าน เพียงพิมานผ่านเมฆา
ม่านกรองทองรจนา หลังคาแดงแย่งมังกร

สมรรถชัยไกรกาบแก้ว แสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน

สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

เรือชัยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
เสียงเส้าเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน

คชสีห์ที่ผาดเผ่น ดูดังเป็นเห็นขบขัน
ราชสีห์ที่ยืนยัน คั่นสองคู่ดูยิ่งยง

เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง
เพียงม้าอาชาทรง องค์พระพายผายผันผยอง

เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง
ดูยิ่งสิงห์ลำพอง เป็นแถวท่องล่องตามกัน

นาคาหน้าดังเป็น ดูเขม้นเห็นขบขัน
มังกรถอนพายพัน ทันแข่งหน้าวาสุกรี

เลียงผาง่าเท้าโผน เพียงโจนไปในวารี
นาวาหน้าอินทรี มีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม

ดนตรีมี่อึงอล ก้องกาหลพลแห่โหม
โห่ฮึกครึกครื้นโครม โสมนัสชื่นรื่นเริงพล

กรีธาหมู่นาเวศ จากนคเรศโดยสาชล
เหิมหื่นชื่นกระมล ยลมัจฉาสารพันมี

คำศัพท์ในบทเห่ชมเรือกระบวน

สมรรถไชย เรือศรีสมรรถชัย เป็นเรือพระที่นั่ง
ครุฑยุดนาค ลักษณะเรือมีโขนหัวเรือเป็นรูปครุฑจับนาค
นาคา เรือที่มีโขนหัวเรือเป็นรูปนาค
เรือม้า เรือที่มีลักษณะโขนหัวเรือเป็นม้าสีทอง ท่าทางองอาจ นัยน์ตาเข้มมองไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญกับสิ่งที่จะเกิด
เรือสุวรรณหงส์ ลักษณะเป็นเรือพระที่นั่ง มีโขนเรือเป็นรูปหงส์ทอง มีพู่ห้อยลงมา
ประเวศ การเข้ามา การเข้าถึง การเข้าสู่
ด้าว แดน
ชลาลัย ทางน้ำ
นาวา เรือ
กิ่งแก้ว ชื่อเรือพระที่นั่ง
เรือต้น เรือหลวง
ไกรกาบแก้ว-ชื่อเรือพระที่นั่งสมัยอยุธยา
สาคร ท้องน้ำ
เรือไชย เรือสำหรับข้าราชการรักษาพระองค์ เรือไม่ใหญ่ เบา เร็ว
คชสีห์ เรือที่มีโขนเรือเป็นรูปคชสีห์ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นราชสีห์
เรือม้า เรือที่มีโขนหัวเรือเป็นรูปม้า ม้าเป็นพาหนะของพระพาย
เรือสิงห์ เรือที่มีโขนเรือเป็นรูปสิงห์
วาสุกรี เรือที่มีโขนหัวเรือเป็นรูปพระยานาค
มังกร เรือที่มีโขนหัวเรือเป็นรูปมังกร สัตว์ในเทพนิยายคล้ายงูมีขาบินได้
เลียงผา เรือที่มีโขนหัวเรือเป็นรูปเรียงผา สัตว์จำพวกเนื้อชนิดหนึ่ง
เรืออินทรี เรือที่มีโขนหัวเรือเเป็นรูปนกอินทรี
โพยม ท้องฟ้าอากาศ
กาหล น.แตรงอน ว.เอะอะอื้ออึง
โสมนัส ความสุขใจ ความปลายปลื้ม ความเบิกบาน
กรีฑา กีฬาประเภทหนึ่ง มีประเภทลู่และลาน การเล่นสนุก การประลองยุทธิ์
กรีธา เคลื่อน ยก เดินทางเป็นหมู่ เป็นกระบวน

ใส่ความเห็น